หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2559

พระสมเด็จ พิมพ์พุ่มข้าวบิณฑ์

พระสมเด็จพิมพ์นี้เรียกตามลักษณะที่ข้อมูลในหนังสือเรียกแบบพิมพ์ลักษณะนี้ว่าพุ่มข้าวบิณฑ์ โดยผู้เขียนยังไม่ทราบถึงเหตุ เลยเรียกตาม (ไว้ศึกษาหาข้อมูลความรู้เพิ่มเติม) ขนาดองค์พระจะเล็กกว่าขนาดมาตรฐานทั่วไปสักหน่อย เนื้อหาหนึกนุ่มนวลตา มีการยุบตัวของพื้นผิวทั้งหน้าและหลัง ด้านหลังการยุบตัวและรอยเหนอะนูน เหมือนที่เรียกกันว่า..รอยปูไต่-หนอนด้น วรรณะออกเหลืองอ่อนๆ



พระสมเด็จ พิมพ์รูปเหมือนทรงระฆัง

พระสมเด็จพิมพ์นี้เป็นรูปเหมือนสมเด็จโตและมีสัญญลักษณ์ระฆังอยู่ด้วยเหมือนองค์ท่านนั่งอยู่ภายในดูมีมิติอยู่สักหน่อยน่าจะเป็นงานของช่างหลวงแกะพิมพ์ มองเห็นคราบแดงๆของชาดติดอยู่ประปรายเดิมคงจะลงรัก-ชาดปิดทองแล้วล้างออก ส่วนทองที่เห็นน่าจะนำมาแปะอีกในภายหลังเพราะทองดูออกจะใหม่ๆอยู่สักหน่อย มวลสารละเอียด ดูแห้งแกร่ง แน่น แต่ไม่แข็งกระด้าง


    อีกองค์พิมพ์เดียวกัน ต่างสภาพเพราะการเก็บ สถานที่เก็บต่างกัน มีการลงรักชาดและปิดทองที่องค์พระสืบค้นที่มา..จะเป็นชุดที่เก็บไว้บนเพดาวิหารวัดระฆังมีคราบดินปลวกเกาะติดอยู่ เนื้อองค์พระจะดันผุดขึ้นมาจากปฏิกิริยาของสภาพแวดล้อมที่เก็บรักษา



 

พระสมเด็จ พิมพ์อกครุฑหูบายศรี

พระสมเด็จ พิมพ์อกครุฑหูบายศรี จะเห็นพระกรรณ(หู)ปรากฏชัดเจนยาวพอกับพระเกศดูแปลกตา ผู้รู้ท่านว่าสร้างที่วัดระฆังแล้วมาบรรจุไว้ที่วัดบางขุนพรหม



วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559

พระสมเด็จม้วน

   พระสมเด็จลักษณะรูปทรงแปลก บางท่านอาจเคยเห็นหรือรับรู้รับทราบพิมพ์แบบนี้มาบ้าง แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นน่าจะหา"แท้"ยาก  เนื้อหามวลสารขาวละเอียดหนึกนุ่ม รอยยุบย่น คราบ แบบธรรมชาติหากรูปทรงเป็นแบบพิมพ์นิยมสักหน่อย เนื้อหาแบบนี้อาจเข้าตาเซียนก็เป็นได้ ตรงกลางเป็นรู อาจทำเพื่อให้คล้ายกับลักษณะของตระกรุดที่ร้อยเชือกคล้องคอได้อันชายไทยสมัยก่อนนิยมกันสะดวกต่อการนำติดตัวไป



พระสมเด็จ พิมพ์ใต้ร่มไม้ ขอบข้างบัวบูชา

    พระสมเด็จพิมพ์นี้น่าจะแสดงความหมายอะไรบางอย่างที่แฝงไว้ในพิมพ์ ลักษณะเป็นแบบพระประธานประทับนั่งบนอาสนะผ้าสีนิทนะใต้ร่มไม้ที่มีก้านย้อยลงมา ส่วนด้านนอกกรอบครอบแก้วมีบัวตูมชูก้านอยู่ทั้งสองด้าน เนื้อหามวลสารหนึกแน่นแก่น้ำมัน(โดยเฉพาะด้านหน้า) ส่วนด้านหลังจะเห็นเนื้อหามวลสารอื่นได้ชัดเจนกว่า จากลักษณะเนื้อหาดูว่าสร้างในยุคต่อมาของสายวัดระฆัง




พระสมเด็จ พิมพ์ใต้ร่มไม้๒

   พระสมเด็จ พิมพ์ใต้ร่มไม้อีกพิมพ์ จัดเป็นพระสกุลวังที่สมเด็จโตได้อธิษฐานจิตปลุกเสก เนื้อมวลสารขาวแห้งละเอียดนุ่มแต่ไม่หนึก เดิมทาชาด-รักปิดทองแล้วถูกล้างออก คงเหลือติดตามซอกและพื้นผิวด้านหลัง



พระสมเด็จ พิมพ์กิ่งโพธิ์ย้อย

 พระสมเด็จ พิมพ์กิ่งโพธิ์ย้อย (ผู้เขียนตั้งชื่อพิมพ์ขึ้นเองตามลักษณะที่เห็นเพื่อเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละองค์ ในการแยกแยะ) วรรณะน้ำตาล ทั้งสีของมวลสารและพิมพ์ไม่ค่อยจะได้พบเห็น เป็นเนื้อมวลสารออกสีนี้เลยไม่ได้ทาหรือเคลือบสีใดๆลงไป มีคราบไขแคลไซด์ตามริ้วรอยและพื้นผิวด้านหลัง หากเข้ากล้องจะได้เห็นเม็ดผงพุทธคุณเม็ดเล็กๆกระจายอยู่
   ข้อมูลในหนังสือ ภาพ-ประวัติ พระสมเด็จโต จะได้ทราบถึงวรรณะต่างๆของพระสมเด็จโตที่มีอยู่หลากหลายด้วยกัน ไม่เพียงเฉพาะเนื้อขาว หรือเหลืองนวล



วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2559

พระสมเด็จสายวัง พิมพ์ใบโพธิ์ข้างยันต์

พระสมเด็จพิมพ์นี้เรียกตามลักษณะภาพที่เห็นคือองค์พระนั่งอยู่กลางรูปร่างลักษณะที่คล้ายใบโพธิ์ที่มีก้าน โดยนัยน่าจะแทนต้นโพธิ์ อันหมายถึงการกำเนิดแห่งโพธิ ,พุทธะ (ผู้เขียน) ล้อมรอบด้วยกรอบสี่เหลี่ยมที่มียันต์ โดยจะพบเห็นยันต์พระคาถานี้ในหลายๆพระคาถาที่สำคัญๆ พระสมเด็จพิมพ์นี้จึงแฝงด้วยนัยยะความหมายในพระพุทธศาสนาไว้อย่างแยบยล เนื้อหาและพิมพ์ในแบบของทางสายวังซึ่งมีหลายเนื้อรวมถึงที่เป็นเนื้อสีด้วยที่เรียกว่าเนื้อปัญจสิริ




พระพิมพ์พระโบราณ(พระสาม ลพบุรี) จะเป็นพระกรุทัพข้าว หรือพระของสายวัดระฆัง?

พระพิมพ์พระโบราณ องค์นี้ล้อศิลปะลพบุรี มิติค่อนข้างหนา เนื้อผงสีขาวปรากฏคราบติดแน่นที่องค์พระด้านหน้า แทบปกปิดเนื้อหามวลสารของพระ หรืออาจเป็นคราบแคลไซด์ที่เกาะคลุมเนื้อพระด้านหน้า ส่วนด้านหลังปรากฏมีไม่มากจึงได้เห็นเนื้อหาได้อย่างชัดเจน มวลสารคล้ายเนื้อพระสมเด็จอาจเป็นไปได้ว่าจะเป้นพระกรุทัพข้าวที่มีมวลสารที่ใกล้เคียงกัน




และมีพิมพ์พระโบราณ อีกพิมพ์หนึ่ง เนื้อขาวนุ่มละเอียด                                                                          



พระสมเด็จ พิมพ์พระโบราณ(พระคง)

พระสมเด็จ พิมพ์พระโบราณมีมากมายที่สร้างล้อพิมพ์พระโบราณ พิมพ์พระคงเป็นอีกพิมพ์หนึ่งที่สร้างถวายสมเด็จโตปลุกเสก เนื้อหามวลสารละเอียด ดูนวลนุ่มตา แต่สภาพองค์นี้เนื้อออกจะแห้งแตกลาน ผิวบางส่วนหลุดร่อนไปบ้างตามกาลเวลา อาจเป็นด้วยการเก็บรักษาและมวลสารในการผสมตั้งแต่ต้นที่มีตัวยึดเกาะน้อย หากศึกษาดูแล้ว(โดยเฉพาะในบล็อคนี้)จะเห็นได้ว่ามวลสารแต่ละการสร้าง แต่ละวาระแตกต่างกันอยู่บ้าง (แต่ส่วนที่เป็นอัตตลักษณ์ของพระสมเด็จโตต้องมีอยู่ในทุกๆองค์)


พระสมเด็จปรกโพธิ์

พระสมเด็จพิมพ์ปรกโพธิ์ มีรูปแบบพิมพ์มากมาย แต่พิมพ์ที่ลงให้ชมเรียกได้ว่างดงามวิจิตรเพราะเป็นพิมพ์ที่ปรากฏรายละเอียดลวดลาย แม้กระทั่งฐานที่ประทับก็มีลวดลายละเอียดด้วยเช่นกัน มีการลงรัก-ชาด ปิดทอง ล้างรักออกจะพอมองเห็นมวลสารแต่คราบรักยังคงติดแทรกตามเนื้อพระที่ยุบแยก